รักษาแผลเป็น
แผลเป็น ในทางการแพทย์จะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ แผลเป็นนูน (Hypertrophic scar ; HTS) และ แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid)
แผลเป็นทั้งสองอย่างเกิดจากกระบวนการการหายของแผล แต่มีความผิดปกติของการซ่อมแซมบาดแผล จึงเกิดการสร้าง Collagen ที่มากเกินไป แผลทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันทั้งการวินิจฉัยและการรักษา แผลเป็นนูน (HTS) จะนูนขึ้นตามรอยแผลเดิม ไม่ลุกลามออกนอกบริเวณแผล มีอาการคันและเจ็บได้ และมักมีแนวโน้มจะแบนลงเมื่อเวลาผ่านไป แผลเป็น Keloid มักเป็นก้อนแข็ง ลามออกนอกบริเวณแผลเดิม มีอาการคันและเจ็บได้ ไม่ยุบหรือลดขนาดลงเมื่อเวลาผ่านไป และมีแนวโน้มจะขยายขนาดขึ้นด้วย
สาเหตุของการเกิดแผลเป็น
การเกิดแผลเป็นทั้งสองแบบ ขึ้นกับหลายปัจจัยมากแต่โดยรวมคือความไม่สมดุลของการสร้างและทำลาย Collagen ของร่างกาย
ปัจจัยที่มีผลพิสูจน์คือ
- ตำแหน่งของบาดแผล : ตำแหน่งของผิวหนังที่มีโอกาสเกิดเป็นมากที่สุดคือบริเวณ กลางหลังส่วนบน บ่า ไหล่ หน้าอกส่วนกลาง หู เครา บริเวณที่มีโอกาสพบแผลเป็นนูนได้น้อยคือ เปลือกตา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
- ความตึงของแผล : การผ่าตัดที่ก่อให้เกิดความตึงของแผลมาก ก็จะทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดแผลเป็นสูง
- เชื้อชาติและสีผิว : พบอุบัติการณ์ของการเกิดแผลเป็นนูนในคนผิวดำมากกว่าผิวขาว และพบโอกาสเกิด Keloid ในบริเวณที่มีปริมาณเซลล์เม็ดสีสูง
- อายุ : ช่วงอายุที่มีโอกาสเป็นแผลเป็นสูงคือช่วงวัยรุ่นและตั้งครรภ์
- ประวัติครอบครัว
- ปัจจัยอื่น เช่น ภาวะติดเชื้อ แพ้ไหมเย็บ เป็นต้น
การป้องกัน
- ลดความตึงของแผล โดยใช้เทปกาวปิดแผล
- ใส่ Pressure garment หรือชุดกดทับแผล
- การใช้ยาและแผ่นซิลิโคนเจลต่างๆ
การใช้ silicone gel เหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของแผล เพื่อให้สมดุลของการสลายพังผืดหรือ
collagen ที่เกินความจำเป็นออกไป
การรักษา
แผลเป็นนูน HTS : มีแนวโน้มจะหายเอง หากป้องกันแล้วยังเกิดแผลเป็นนูนอีก แพทย์อาจพิจารณาการฉีดยา หรือผ่าตัดใหม่ตามความเหมาะสม
แผลเป็น Keloid : การรักษาคือการฉีด Steroid เข้าไปในแผล การฉีด Steroid ต้องฉีดในปริมาณและตำแหน่งที่เหมาะสม แพทย์จะนัดฉีดทุกเดือน จนกว่าจะยุบลงหรือลดอาการคัน-เจ็บ แต่รอยจะไม่หายไปจนหมด
การผ่าตัดอย่างเดียว ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม หากต้องการผ่าตัดkeloid ควรทำควบคู่ไปกับการฉายแสง หรือฉีด Steroid ร่วมด้วย